วันอังคารที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

วัดพระศรีมหาอุมาเทวี (วัดแขก สีลม) ตอนที่ 2



             ลักษณะทางสถาปัตยกรรมของวัดพระศรีมหาอุมาเทวีนี้ ถือว่ามีความงดงามตามรูปแบบทางสถาปัตยกรรมของอินเดียตอนใต้ โดยมีช่างผู้ชำนาญการชาวทมิฬ รัฐทมิฬนาฑุ ประเทศอินเดียเป็นผู้อำนวยการก่อสร้าง จึงทำให้วัดพระศรีมหาอุมาเทวีแห่งนี้มีลักษณะทางสถาปัตยกรรมส่วนใหญ่มีลักษณะคล้ายคลึงกับเทวาลัยในอินเดียทางตอนใต้เป็นอย่างมาก โดยตัววัดประกอบด้วยซุ้มโคปุระจำนวนสองซุ้ม ตั้งอยู่ทางด้านทิศเหนือและด้านทิศตะวันออก ซุ้มโคปุระทางด้านทิศตะวันออกจะมีขนาดใหญ่กว่าโคปุระทางด้านทิศเหนือ โดยล้อมรอบตัววัดทั้งทางด้านถนนปั้นและถนนสีลมด้วยกำแพงทั้งสองด้าน




(ส่วนหลังคาของเทวาลัยภายในวัดพระศรีมหาอุมาเทวี มีการประดับด้วยรูปปั้นของพระเป็นเจ้าในศาสนาฮินดู)





(ซุ้มโคปุระทั้งสองด้านของวัด โดยด้านริมของภาพเป็นซุ้มโคปุระทิศเหนือ ส่วนซุ้มตรงกลางของภาพเป็นซุ้มโคปุระทางด้านทิศตะวันออก) 


(ภาพซุ้มโคปุระด้านทิศตะวันออก ฝั่งถนนปั้น เป็นซุ้มโคปุระที่มีขนาดใหญ่ และมีความสวยงามจากการประดับด้วยเทวรูปปูนปั้นของเทพสตรีในปางต่างๆตามความเชื่อของชาวฮินดู) 



                            (ส่วนเรือนยอดของซุ้มโคปุระทางด้านทิศตะวันออก) 




             ถัดจากซุ้มโคปุระทางด้านทิศตะวันออกเข้ามาในบริเวณวัด ทางด้านซ้ายของเทวาลัยประธาน จะพบซุ้มพระเป็นเจ้าของทางศาสนาฮินดูจำนวนสองหลัง คือ ซุ้มของพระพรหม ที่หล่อจากสำริดและซุ้มของเทพนพเคราะห์ในศาสนาฮินดูที่แกะสลักจากหินสีดำ ถัดไปทางด้านหน้าของเทวาลัยประธาน จะมีแท่นหินรูปดอกบัว, เสาธงที่ทำด้วยทองเหลือง,และซุ้มสิงห์ตามลำดับ ซึ่งสิงห์นี้ถือเป็นเทพพาหนะของพระแม่ทุรคาซึ่งเป็นปางหนึ่งของพระแม่อุมาเทวี เทพสตรีที่ได้รับความเคารพอย่างมากในนิกายศักติ ถัดไปทางด้านซ้ายทางทิศตะวันออกจะเป็นหอศิวลึงค์ ประดิษฐานศิวลึงค์ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ขององค์ศิวะ มหาเทพผู้ยิ่งใหญ่ ส่วนทางด้านขวาของเทวาลัยประธานทางทิศใต้ เป็นอาคารรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ภายในมีซุ้มเทวรูปจำนวนสามหลังสำหรับใช้ประดิษฐานเทวรูปของเทพองค์ต่างๆ เช่น พระกันตวรายัน พระเปริยาจี พระอัคนิวิรั่น และพระมทุไรวิรั่น ซึ่งทั้งหมดเป็นเทพท้องถิ่นตามความเชื่อของชาวทมิฬ ในประเทศอินเดียทางตอนใต้ 









ภายในเทวาลัยประธาน มีลักษณะอาคารเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า แบ่งด้านในสุดออกเป็นสามส่วน ตรงกลางเป็นห้องสำหรับประดิษฐานเทวรูปของพระศรีมหามารีอัมมัน (Mariamman) หรือพระศรีมหาอุมาเทวี ถัดไปทางด้านขวาเป็นห้องขนาดเล็กสำหรับประดิษฐานเทวรูปองค์พระพิฆเนศ และเช่นเดียวกันทางฝั่งซ้ายเป็นห้องขนาดเล็กสำหรับประดิษฐานเทวรูปของพระขันธกุมาร ซึ่งเทวรูปทั้งสามองค์ที่นี้สร้างมาจากหินแกรนิตสีดำ โดยอัญเชิญมาจากประเทศอินเดียเมื่อครั้งที่เริ่มสร้างวัดแห่งนี้





 
นอกจากนี้ทางฝั่งขวาและซ้ายของเทวาลัยประธานยังเป็นที่ประดิษฐานของเทวรูปสำคัญอีกหลายองค์ โดยทางฝั่งขวาเริ่มนับจากประตูทางเข้าประดิษฐานองค์พระพุทธชินราชจำลอง หรือที่นิยมเรียกกันว่า หลวงพ่อชินราชวัดแขก ซึ่งสร้างในปี พ.ศ.๒๔๙๘ ถัดมาเป็นเทวรูปของพระเป็นเจ้าองค์ต่างๆ เช่น พระคเณศ พระวิษณุ พระกฤษณะ พระศิวะ พระขันธกุมาร พระแม่อุมา พระแม่ลักษมี และพระแม่สรัสวตี เป็นต้น ส่วนทางฝั่งซ้ายภายในเทวาลัยเป็นซุ้มขนาดเล็ก ซึ่งภายในประดิษฐานเทวรูปศิวะนาฏราชและพระแม่ศิวะกามี่ โดยเทวรูปทั้งหมดที่กล่าวไปในข้างต้นหล่อจากโลหะสำริด อัญเชิญมาจากประเทศอินเดียเพื่อมาประดิษฐานภายในเทวาลัยประธานแห่งนี้
 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น