วันอังคารที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

วัดพระศรีมหาอุมาเทวี (วัดแขก สีลม) ตอนที่ 1


       

           กล่าวถึงสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ หรือ ศาสนสถานทางศาสนาพราหมณ์-ฮินดูในกรุงเทพมหานคร วัดพระศรีมหาอุมาเทวี หรือ ที่นิยมเรียกกันว่า วัดแขก สีลมก็คงเป็นอีกหนึ่งศาสนสถานที่หลายท่านรู้จักและเคยแวะเวียนไปกราบสักการะ ณสถานที่แห่งนี้ โดยศาสนสถานดังกล่าวมีประวัติความเป็นมาที่ยาวนานและมีความน่าสนในที่สำคัญอีกประการหนึ่งซึ่งเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้ผมหยิบยกเรื่องราวของศาสนสถานแห่งนี้มาเรียบเรียงเป็นบทความขึ้นก็เนื่องมาจาก สถานที่นี้เป็นอีกแห่งที่ประดิษฐานเทวรูปองค์พระคเณศซึ่งมีลักษณะทางประมากรรมที่งดงามตามแบบฉบับของอินเดียใต้ 

           ในส่วนพื้นที่แถวสีลมชาวอินเดียที่เข้ามาตั้งบ้านเรือนอยู่อาศัยในบริเวณถนนสีลมนั้นมีทั้งชาวอินเดียที่นับถือศาสนาอิสลามและชาวอินเดียที่นับถือศาสนาฮินดู โดยส่วนใหญ่ตั้งบ้านเรือนอยู่ริมถนนตั้งแต่สุสานจีนไปจนถึงถนนสุรศักดิ์ แถบตรอกตำบีซา ตรอกไวตี ถนนปั้น ถนนประมวญและริมคลองบริเวณซอยประดิษฐ์ ซอยปราโมทย์และซอยตรงข้ามถนนคอนแวนต์ ซึ่งในอดีตบริเวณดังกล่าวมีชาวอินเดียอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก แต่ปัจจุบันมีจำนวนชาวอินเดียที่ตั้งถิ่นฐานบริเวณนี้อย่างถาวรมีจำนวนลดลง เนื่องจากส่วนหนึ่งได้มีการอพยพออกนอกพื้นที่หรือไม่ก็กลับประเทศอินเดีย ซึ่งเป็นถิ่นฐานเดิมของตนไป 


(พระแม่มารีอัมมัน เทพสตรีที่ชาวอินเดียตอนใต้หรือชาวทมิฬ ซึ่งเป็นผู้ที่นับถือศาสนาฮินดู นิกายศักติให้ความเคารพสักการะ)



          จากการตั้งถิ่นฐานของชาวอินเดีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งชาวอินเดียที่นับถือศาสนาฮินดู ย่อมเป็นที่แน่นอนว่าจะต้องมีการก่อสร้างศาสนสถานเพื่อเป็นศูนย์รวมแห่งความศรัทธาของผู้ที่นับถือศาสนาฮินดู และเพื่อเป็นที่ประกอบพิธีบูชาพระเป็นเจ้าตามลัทธิความเชื่อของตน นั่นจึงเป็นที่มาของการสร้างเทวสถานพระศรีมหาอุมาเทวีขึ้น ซึ่งวัดแห่งนี้ถือเป็นวัดในศาสนาฮินดู นิกายศักติ สร้างโดยชาวอินเดียที่อพยพมาจากทางอินเดียตอนใต้ ที่เรียกว่า ชาวทมิฬ ในระยะแรกมีการก่อสร้างเป็นเพียงศาลไม้เล็กๆเพื่อประดิษฐานองค์พระแม่ศรีมารีอัมมัน     (พระแม่ศรีมหาอุมาเทวี) ซึ่งเป็นเทพสตรีที่ชาวทมิฬให้ความเคารพสักการะ






          ในสมัยต่อมาราวปี พ.ศ.๒๔๓๘-๒๔๔๓ (ตรงกับรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๕) ชาวอินเดียตอนใต้ซึ่งตั้งบ้านเรือนอยู่ในบริเวณถนนสีลม นำโดยนายไวตี ประเดียอะจิ นายนารายเจติ นายโกบาระตี และญาติมิตรที่มีจิตศรัทธาได้ร่วมใจกันบริจาคเงินเพื่อซื้อที่ดินตรงถนนปั้น (บริเวณที่ตั้งปัจจุบันของวัดแขก) เพื่อที่จะสร้างเป็นเทวสถานของศาสนาฮินดู ซึ่งที่ดินบริเวณนี้สวนผักของนางปั้น อุปการโกษา จำนวน ๒๙๒ ตารางวา และเมื่อดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จ ได้มีการจัดตั้งเป็นคณะกรรมการเพื่อบริหารดูแลเทวสถานแห่งนี้ด้วย โดยต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๕๘ ได้มีการจดทะเบียนเทวสถานแห่งนี้ในนาม “มูลนิธิวัดพระศรีมหามารีอัมมัน” และได้มีการนำเทวรูปจากประเทศอินเดียมาประดิษฐานเพิ่มขึ้นจากเมื่อครั้งที่เริ่มสร้างวัด นอกจากนี้ทางคณะกรรมการมูลนิธิฯยังได้เชิญพราหมณ์จากประเทศอินเดียทางตอนใต้มาทำหน้าที่ในการประกอบพิธีกรรมและบูชาพระเป็นเจ้าต่างๆด้วย อีกทั้งทางวัดยังได้มีการพัฒนา ซ่อมแซม และปรับปรุงอาคารสถานที่ต่างๆภายในบริเวณวัดอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งสวยงามเป็นที่ปรากฏแก่สายตาของทุกท่านดังเช่นในปัจจุบัน 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น