วันอังคารที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

องค์พระพิฆเนศที่วัดพระศรีมหาอุมาเทวี

องค์พระพิฆเนศวรที่ประดิษฐานอยู่ภายในวัดพระศรีมหาอุมาเทวีแห่งนี้ ประดิษฐานอยู่ภายในอาคารเทวาลัยประธานสององค์ด้วยกัน คือ



          องค์แรก ประดิษฐานอยู่ภายในห้องขนาดเล็กด้านขวาของห้องที่ประดิษฐานเทวรูปพระศรีมหามารีอัมมัน ซึ่งถือเป็นเทวรูปประธานของวัด โดยมีลักษณะเป็นเทวรูปพระคเณศประทับนั่ง ทำจากหินแกรนิตสีดำ มีสี่พระกร พระกรซ้ายบนถือปาศะ (บ่วง) พระกรขวาบนถืออังกุศะ (ขอสับ) พระกรซ้ายล่างถือถ้วยขนม พระกรขวาล่างถืองา ปลายงวงตวัดไปทางซ้ายที่ถ้วยขนม งาที่ด้านขวาหัก และทรงสวมกรัณฑมงกุฎ มีซุ้มหน้ากาล(ทำจากโลหะ)ตั้งอยู่ด้านหลังเทวรูป โดยเทวรูปประดิษฐานอยู่บนแท่นหินสี่เหลี่ยมสีน้ำตาล ด้านหน้าแท่นดังกล่าว เป็นแท่นสีเหลี่ยมที่มีลักษณะคล้ายกันแต่มีขนาดเล็กกว่า สำหรับใช้เป็นที่ตั้งรูปพาหนะขององค์พระคเณศ นั่นก็คือ หนู ทำจากหินแกรนิตสีดำเช่นเดียวกัน







         (เทวรูปพระคเณศที่ทำจากหินแกรหิตสีดำ ประดิษฐานเบื้องหน้าหนู เทพพาหนะของพระองค์ท่าน ภายในเทวาลัยประธานวัดพระศรีมหาอุมาเทวี : ภาพจากหนังสือเรื่อง พระพิฆเนศวร์ : คติความเชื่อและรูปแบบของพระพิฆเนศวร์ที่พบในประเทศไทย)สำหรับเทวรูปพระคเณศองค์นี้ อ.จิรัสสา คชาชีวะ แห่งคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ได้สันนิษฐานตามลักษณะทางประติมานวิทยาว่า มีลักษณะตามแบบศิลปะอินเดียใต้ตอนปลาย พระวรกายอ้วนเตี้ย ค่อนข้างเทอะทะ หากแต่แฝงไว้ด้วยความหนักแน่นและมีอำนาจ




          เทวรูปพระคเณศอีกองค์หนึ่งซึ่งประดิษฐานรวมอยู่กับเทวรูปขององค์ประเป็นเจ้าอื่นๆบนแท่นสี่เหลี่ยมผืนผ้ายกพื้นสูง บริเวณฝั่งขวาด้านในอาคารเทวาลัยประธาน โดยประดิษฐานอยู่เป็นองค์แรกของแท่นดังกล่าว มีลักษณะเป็นเทวรูปสำริด ประทับยืน มีสี่พระกร พระกรซ้ายบนถือปาศะ (บ่วง) พระกรขวาบนถืออังกุศะ (ขอสับ) พระกรซ้ายล่างถือขนม พระกรขวาล่างถืองา ปลายงวงตวัดหยิบขนมที่อยู่ในพระกรซ้าย งาที่ด้านขวาหัก (คล้ายกับเทวรูปที่ทำจากหินแกรนิตสีดำที่กล่าวไปในข้างต้น) มีซุ้มกาลอยู่เบื้องหลังของเทวรูป 
          ในส่วนของลักษณะทางศิลปกรรมของเทวรูปองค์นี้ เป็นรูปแบบของอินเดียใต้ โดยเทวรูปพระคเณศสำริดองค์นี้จะมีการอัญเชิญออกมาประกอบพิธีสำคัญของวัดหลายพิธี เช่น พิธีคเณศจตุรถี (พิธีบูชาเนื่องในวันคล้ายวันประสูติขององค์พระคเณศ) พิธีบูชาองค์บรมครู(เป็นพิธีบูชาองค์พระคเณศก่อนที่จะเริ่มต้นเทศกาลนวราตรี) เป็นต้น โดยจะมีการอัญเชิญเทวรูปองค์นี้ออกแห่เพื่อให้สานุศิษย์ทั้งหลายได้มีโอกาสสักการะด้วย




แหล่งข้อมูลประกอบการเรียบเรียง :

- หนังสือ พระพิฆเนศวร์ : คติความเชื่อและรูปแบบของพระพิฆเนศวร์ที่พบในประเทศไทยโดย อ.จิรัสสา คชาชีวะ

- สารนิพนธ์เรื่อง รูปแบบทางสถาปัตยกรรมและประติมานวิทยาที่เทวสถานพระศรีมหาอุมาเทวี (วัดแขก สีลม) โดย วรรณพรรธน์ เรืองทรัพย์

- รายงานการศึกษาเรื่อง ความสำเร็จในการปฏิบัติภาระกิจของวัดพราหมณ์-ฮินดู : กรณีวัดพระศรีมหาอุมาเทวี โดย บำรุง คำเอก

- หนังสือ ๑๐๐ มุมมองใหม่กรุงเทพฯ โดย กองการท่องเที่ยว กรุงเทพมหานคร

- หนังสือ ของดีกรุงเทพฯ โดย กองการท่องเที่ยว กรุงเทพมหานคร

- บทความเรื่อง “ศักติ ออนทัวร์” โดย ผู้จัดการออนไลน์ วันที่ ๒๓ กันยายน พ.ศ.๒๕๔๙



แหล่งที่มาของภาพ :

- ภาพพระคเณศหินแกรนิตสีดำ จากหนังสือ พระพิฆเนศวร์ : คติความเชื่อและรูปแบบของพระพิฆเนศวร์ที่พบในประเทศไทยโดย อ.จิรัสสา คชาชีวะ

- ภาพองค์พระคเณศสำริด โดย คุณหยวน จากเว็ป Hindu Meeting (เดิม)

- ภาพงานแห่พระคเณศในวันบูชาบรมครู วันที่ ๑๑ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๕๐ โดย คุณลองภูมิ จากเว็ป โอม อารตี

- ภาพขบวนแห่งานประจำปีวัดพระศรีมหาอุมาเทวี วันที่ ๒๑ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๕๐ โดย @todi_tim จากเว็ป pongdej.multiply.com
 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น